ผักและผลไม้ นับเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล โดยในแต่ละปีไทยมียอดการส่งออกผัก ผลไม้ ทั้งรูปของสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง รวม 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15-20% ซึ่งเป็นเพราะผลผลิตผักผลไม้ของไทยมีความหลากหลาย และต่อเนื่องตลอดปี ทำให้มีความได้เปรียบด้านประเภทสินค้า และมีความยืดหยุ่นด้านปริมาณการส่งออก ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รสชาติดีเป็นที่นิยม และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้าผักและผลไม้ไทย ได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนรวม 79% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันก็มีตลาดอื่นที่มีอัตราการขยายตัวสูง เช่น พม่า ที่ตลาดมีการขยายตัวถึง 45% และเกาหลีใต้ ที่ตลาดมีการขยายตัวอยู่ที่ 20%
ในส่วนของตลาดจีน แม้ว่าปัจจุบันจีนจะมีฐานะเป็นประเทศคู่แข่งในตลาด ผักและผลไม้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้บริโภครายใหญ่ และหลายมณฑลยังเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าอีกด้วย โดยผลไม้ที่ได้รับความนิยมในจีน ได้แก่ ลำไย มังคุด ทุเรียน กล้วยไข่ เงาะ รวมถึงมะม่วง และชมพู่ ซึ่งมีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ไปจนถึงร้านขายผลไม้ขนาดเล็ก
นอกเหนือจากตลาดในจีนและอาเซียนแล้ว ผักและผลไม้ของไทยยังได้รับความนิยมในตลาดอาหรับ เช่น คูเวต บาห์เรน และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วยเนื่องจากผลไม้ไทย เช่น มะม่วง เงาะ มังคุด เป็นที่นิยม และที่รู้จักของผู้บริโภคท้องถิ่นประกอบกับไม่สามารถหาสินค้าพื้นเมืองทดแทนได้ และในบางประเทศมีภูมิอากาศแห้งแล้งไม่สามารถเพาะปลูกได้ จึงส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าผักและผลไม้อย่างต่อเนื่อง
ในตลาดยุโรป เช่น กรีซ และ สวิตเซอร์แลนด์ สับปะรดแห้ง และสับปะรดแช่อิ่ม จากไทยได้รับความนิยมค่อนข้างสูง เนื่องจากมีคุณภาพ และรสชาติดี แต่เนื่องจากสับปะรดนำเข้าจากไทยมีราคาสูงกว่าที่นำเข้าจากภูมิภาคอเมริกาใต้ หรือแอฟริกา จึงทำให้ส่วนแบ่งตลาดในสวิตเซอร์แลนด์ ยังไม่มากนัก
สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกานั้น ผลไม้ไทยที่เป็นที่ต้องการของตลาดสหรัฐอเมริกา ฝั่งตะวันตก ได้แก่ มังคุด, ลำไย และเงาะ ขณะที่ตลาดในรัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐใกล้เคียงมีความต้องการบริโภคมะม่วงที่สูงมาก นอกจากนี้ มะพร้าวอ่อนน้ำผลไม้กระป๋องเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำลำไย, น้ำมังคุด หรือน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพจากโครงการหลวง ก็มีการส่งไปจำหน่ายในสหรัฐฯ เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ส่วนมะม่วงจากไทยยังไม่สามารถแข่งขันกับมะม่วงจากเม็กซิโกได้ เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศที่สูงและคุณภาพมะม่วงที่ไม่มีความทนทานกับการขนส่งที่ใช้เวลาทางเรือได้
ในภาพรวมการส่งออกผักและผลไม้ของไทยยังมีปัญหา และอุปสรรคที่สำคัญคือเรื่องความแปรปรวนของสภาพอากาศที่กระทบต่อการผลิต พื้นที่เพาะปลูกมีขนาดเล็กทำให้ต้นทุนการจัดการ และควบคุมคุณภาพการผลิตมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวมถึงขาดระบบขนส่ง และโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ตลาดส่งออกหลายแห่งยังมีการออกกฎระเบียบที่ทำให้การส่งผักและผลไม้ไปจำหน่ายทำได้ยากขึ้น เช่น สหภาพยุโรปที่มีการออกกฎระเบียบให้มีการตรวจสินค้าผักไทย เพื่อตรวจยาฆ่าแมลงตกค้าง การปนเปื้อนทางจุลชีววิทยา และแมลงศัตรูพืชอย่างเข้มงวด เป็นต้น