เดิมไทยเริ่มมีการขยายการส่งออกน้ำผักผลไม้ไปยังอาเซียนก่อนที่จะมีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าในปี 2553 แต่ยังมีมูลค่าการส่งออกไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศส่งออกหลักอื่นๆ แต่จะเห็นได้ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 นี้ ไทยสามารถส่งออกน้ำผักผลไม้ไปยังตลาดอาเซียนได้มากขึ้นเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน) ซึ่งปัจจัยที่ทำให้น้ำผักผลไม้ของไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนได้เพิ่มขึ้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกจากสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว ผลจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ที่มีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อการส่งออกน้ำผักผลไม้ของไทยไปยังอาเซียนโดยมีรายละเอียดดังนี้
อาเซียนเดิมส่วนใหญ่จะมีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีเพียงอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอาเซียนใหม่ (ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม) ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มสมาชิกใหม่ที่เริ่มมีการทยอยปรับลดอัตราภาษีนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา แต่ยังคงมีการเก็บภาษีนำเข้าไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งจากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าลง ทำให้ต้นทุนในการส่งออกน้ำผักผลไม้ของไทยลดลง ส่งผลให้ไทยมีโอกาสที่จะขยายการส่งออกน้ำผักผลไม้ไปยังตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ไทยสามารถส่งออกน้ำผักผลไม้ไปยังประเทศเหล่านี้มากขึ้น โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 67-130
หากพิจารณาการส่งออกน้ำผักผลไม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 แยกรายประเภท พบว่า ไทยส่งออกน้ำผักผลไม้อื่นๆไปยังอาเซียนมากที่สุดคิดเป็นมูลค่า 10.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.1 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 46.0 ของมูลค่าการส่งออกน้ำผักผลไม้ไปยังอาเซียน รองลงมา ได้แก่ น้ำผักผลไม้ผสม น้ำส้มชนิดออเร้นจ์ น้ำส้มชนิดอื่นๆ และน้ำสับปะรด ตามลำดับจะเห็นได้ว่า การส่งออกน้ำผักผลไม้ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากน้ำสับปะรดของไทยไปยังอาเซียนยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรที่จะใช้โอกาสจากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้า และหันมาขยายการส่งออกน้ำผักผลไม้ประเภทอื่นๆ ในตลาดอาเซียนให้มากขึ้น