ลู่ทางและอนาคตของตลาดผลไม้ไทยในจีน

ผู้ประกอบการรายใหม่ที่คิดจะส่งออกผลไม้ไทยมายังจีนจำเป็นที่จะต้องรู้จักวิธีการดูแลและถนอมผลไม้ที่ตนจะนำเข้าเป็นอย่างดี เนื่องจากผลไม้มีอายุสั้น ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ ความเข้าใจในตลาดจีนเป็นอย่างดี ต้องรู้ว่าจะนำสินค้าไปขายที่ไหน และต้องหาคู่ค้าที่ดีที่รู้จักผลไม้ไทยและความต้องการของตลาดต่าง ๆ ในจีน อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ ควรจะ ซื้อมาและขายเอง นอกจากนั้น ควรรู้จักติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเองด้วย

จีนยังปิดประเทศไทยมีการส่งออกผักและผลไม้ไปที่ฮ่องกง การขนส่งก็ยังใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ คือ เข่งเป็นอุปกรณ์ในการขนส่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวของจีนและฮ่องกงจะมีความต้องการมาก ส่วนฮ่องกงได้ส่งต่อไปจีนหรือไม่นั้นไม่มีใครรู้ สมัยก่อนฮ่องกงนำเข้าผลไม้และผักจากไทยเยอะ เช่น เผือก และผักบุ้ง รวมทั้งผักใบประเภทอื่น ๆ ต่อมาหลังจากจีนทำการเปิดประเทศและปฎิรูปเศรษฐกิจ ชาวจีนมีกำลังซื้อมากขึ้น ของที่ส่งไปฮ่องกงได้มีการส่งออก (Re-export) ต่อไปยังจีน และในช่วงปีหลัง ๆ ก่อนที่จีนจะเข้า WTO ผลไม้ต่าง ๆ อาทิ ทุเรียน และลำไย ที่ไทยส่งไปฮ่องกง มีร้อยละ 50-70 ที่ส่งต่อไปยังจีน ส่วนผักมีการส่งออกน้อยลงมากเพราะในปัจจุบัน จีนสามารถผลิตเองได้มากขึ้น ต่อมาหลังจากที่จีนเข้า WTO และลงนามความตกลง FTA กับไทย การส่งออกผลไม้ไปยังจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันจีนกลายเป็นตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของไทย และฮ่องกงก็เปลี่ยนบทบาทจากเดิมที่เป็นตลาดผลไม้ไทยกลายเป็นท่าเรือในการส่งต่อผลไม้ไทยไปยังจีน เนื่องจากผู้รับของร้อยละ 90 อยู่ที่จีน และการที่ผู้ส่งออกเลือกส่งสินค้าไปที่ฮ่องกงก่อน แล้วค่อยส่งต่อไปจีนแม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงก็ตาม เนื่องจากท่าเรือที่ฮ่องกงมีประสิทธิภาพการดำเนินงานสูงและสามารถเคลียร์สินค้าออกมาได้ง่ายกว่าเข้าไปยังจีนโดยตรง

ปัจจุบันไทยส่งออกผลไม้ไปยังจีนประมาณ 200,000-300,000 ตัน/ปี สินค้าผลไม้ที่จีนอนุญาตให้นำเข้าจากไทยได้มีจำนวน 23 ชนิด ในจำนวนนี้ มีลำไย ทุเรียน มังคุด กล้วยไข่ ส้มโอ ลิ้นจี่ ชมพู่ เงาะ มะม่วง น้อยหน่า และลองกอง ที่ผู้ประกอบการได้นำเข้ามายังตลาดจีนแล้ว ส่วนผลไม้ประเภทอื่น ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน รวมทั้งผู้ประกอบการนำเข้าในจีนก็ยังไม่มีใบอนุญาตนำเข้าด้วย ทางด้านการขนส่งนั้น ผลไม้ประเภทชมพู่ เงาะ มะม่วง น้อยหน่า และลองกอง จะทำการขนส่งทางเครื่องบิน เนื่องจากเน่าเสียง่าย ส่วนผลไม้ประเภทอื่นส่วนใหญ่จะทำการขนส่งทางเรือ สำหรับสินค้าประเภทผัก มีการส่งออกน้อยมาก เนื่องจากจีนสามารถเพาะปลูกผักได้มากอยู่แล้ว โดยจีนเป็นประเทศผู้ผลิตผักได้มากที่สุดในโลก และหลังจากเปิด FTA กับไทย จีนก็ส่งออกสินค้าผักมายังประเทศไทยเป็นปริมาณมาก

ก่อนเปิดการค้าเสรีอาเซียน-จีน จีนเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าผักและผลไม้โดยเฉลี่ยร้อยละ 20-25 หลังจากเปิดการค้าเสรีแล้ว จีนปรับลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ซึ่งถึงแม้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน แต่อยู่แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากยังมีปัญหาหรืออุปสรรคอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการไทยต้องประสบ อาทิ อุปสรรคด้านการตรวจสอบและกักกันโรค (อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีหรือ NTB) ค่าขนส่ง และภาษีมูลค่าเพิ่ม อันที่จริงแล้ว ภาษีนำเข้าไม่ได้สำคัญมากเมื่อเทียบกับความสามารถที่จะนำผลไม้ไปถึงผู้บริโภคด้วยเวลาที่สั้นที่สุด เนื่องจากผลไม้เป็นสินค้ามูลค่าไม่สูงเหมือนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ถึงเก็บภาษีนำเข้าในระดับหนึ่งก็ไม่ได้กระทบต่อราคาขายของสินค้ามาก แต่ผลไม้เป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย หากไปถึงผู้บริโภคช้าก็จะขายไม่ได้ และเกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการมาก ฉะนั้น อุปสรรคโดยเฉพาะด้านการตรวจสอบฯ และการขนส่งถือเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งออกผลไม้ไทย

ผลไม้ที่มีแนวโน้มการส่งออกลดลงได้แก่ ลำไย และลิ้นจี่ โดยลำไยนั้น จีนมีการผลิตมากขึ้น และทางเวียดนามก็ส่งออกมายังจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็มีการพัฒนาคุณภาพขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนลิ้นจี่นั้น การส่งออกจากไทยมายังจีนลดลงมาก โดยสาเหตุหนึ่งก็เพราะจีนมีพันธุ์ลิ้นจี่ที่ผลิตออกวางตลาดก่อนไทย ทำให้ลิ้นจี่จากไทยขายได้ยากขึ้น สำหรับผลไม้ที่ยังมีแนวโน้มการส่งออกที่ดี ได้แก่ ทุเรียน และมังคุด นอกจากนี้ กล้วยก็เป็นผลไม้ที่มีการส่งออกเรื่อย ๆ โดยตลาดกล้วยไทยในจีน จะเป็นตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยจะเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากกล้วยไทยมีคุณภาพและราคาสูงสุดในตลาด เมื่อเทียบกับกล้วยจากเวียดนามและฟิลิปปินส์

This entry was posted in สินค้าและบริการ and tagged , . Bookmark the permalink.

Comments are closed.