“ตลาดผักผลไม้อบแห้งของไทยกำลังขยายตัวทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก เนื่องจากผู้ประกอบการมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ใน การผลิตสินค้า ตอบสนองความต้องการของตลาดเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และมีความหลากหลายของสินค้ามากขึ้น โดยเพิ่มความหลากหลายของประเภทผักและผลไม้ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งยังมีการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยการวางจำหน่ายในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และมีการพัฒนารูปแบบและการดีไซน์ บรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามและทันสมัย รวมทั้งมีการคัดเลือกและพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าโอทอป ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานการผลิตและรสชาติ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคมากขึ้น ในขณะที่ตลาดส่งออกผลไม้อบแห้งก็มีแนวโน้มเติบโตเช่นเดียวกับตลาดในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคในต่างประเทศหันมาให้ความนิยมบริโภคผลไม้อบแห้งในฐานะขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ โดยปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผักผลไม้อบแห้งมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากจีน ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ตลาดอาเซียนก็นับว่าเป็นตลาดส่งออกที่น่าจับตามอง เนื่องจากไทยยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ประกอบการผักผลไม้อบแห้งต้องจับตามองด้วย คือ การนำเข้าผักผลไม้อบแห้งที่มีแนวโน้มเติบโตด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะจากจีน และจากประเทศในอาเซียน ที่มีการพัฒนาการผลิตและส่งออกผักผลไม้อบแห้งมากขึ้น โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และเวียดนาม
ผู้ประกอบการรายใหญ่ มีการจัดการผลิตที่เป็นระบบ มีมาตรฐานในการผลิต และใช้เทคโนโลยีในการผลิต เพื่อให้ได้มาตรฐานของคุณภาพสินค้าใกล้ เคียงกัน และการบรรจุหีบห่อ มีตรายี่ห้อที่ได้มาตรฐานสากล โดยมีการนำวัตถุดิบในประเทศที่มีการรับซื้อจากเกษตรกร นำมาแปรรูปด้วยขั้นตอนต่างๆ บรรจุหีบห่อที่สวยงามและมีมาตรฐาน โดยตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่เน้นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่สามารถเดินทางไปยังแหล่งผลิต นอกจากนี้ ลู่ทางการขยายตลาดคือ การส่งออกผักผลไม้อบแห้งที่ส่งออกในปัจจุบัน คือ ทุเรียน กล้วย ขนุน มะม่วง มะละกอ สับปะรด เป็นต้น
ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งได้แก่บรรดาผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีการประกอบการในลักษณะอุตสาหกรรมในครัวเรือน มีขั้นตอนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนมากนัก และใช้วัตถุดิบจากผลผลิตที่ปลูกและเก็บเกี่ยวเอง ดำเนินการแปรรูปตามความชำนาญและได้รับการถ่ายทอดจากในครอบครัวและคนรู้จักใกล้เคียง ซึ่งผู้ประกอบการ ในลักษณะนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันยังไม่การรวบรวมสำรวจอย่างครบถ้วน ตลาดของผู้ประกอบการประเภทนี้ ได้แก่ ตลาดชุมชนและตลาดของฝาก ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งผลิต เนื่องจากสะดวกต่อการขนส่ง
เดิมผลไม้ที่นิยมนำมาทำเป็นผักผลไม้อบแห้งและอบกรอบนั้นจำกัดอยู่เฉพาะผลไม้ไม่กี่ประเภท เช่น ทุเรียน กล้วย ขนุน มะละกอ เผือก มันเทศ ฟักทอง เป็นต้น กระบวนการแปรรูปเป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนและยุ่งยากมากนัก เช่น การทอด การฉาบ การอบแห้งด้วยตู้อบแห้ง(Hot Air Oven) เป็นต้น มีการผลิตตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึง ระดับอุตสาหกรรมผู้ประกอบการนิยมใช้เครื่องจักรประเภท Drum Dryer เนื่องจากสามารถผลิตได้ในปริมาณครั้งละมากๆ และผลิตได้หลากหลายประเภท โดยยังคงหลักการในกระบวนการ ผลิตที่ใกล้เคียงกับการทอด การฉาบ และการอบ คือ การให้ความร้อนเพื่อทำให้แห้ง โดยมีโครงสร้างต้นทุนและการจัดจำหน่ายในลักษณะเดียวกับการผลิตผักผลไม้อบแห้งวิธีอื่นๆ แหล่งวางจำหน่ายหลักภายในประเภทอยู่บริเวณตลาดของฝากจากสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดข้อด้อยของสินค้าจากลักษณะการผลิตเป็นการผลิตในระดับครัวเรือน และมีผลิตรายเล็กจำนวนมาก ขณะที่สินค้าไม่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ส่งผลให้การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรง รวมทั้งลักษณะตลาดจะแปรตามฤดูการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหม่นำนวัตกรรมผักผลไม้อบแห้ง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิต Freeze dried และ Vacuum drying ซึ่งเป็นนวัต กรรมถนอมอาหารที่สามารถรักษาทั้งสี กลิ่น รสชาติ และคุณค่าทางอาหาร โดยไม่ได้ใช้ความร้อนและน้ำมันในกระบวนการผลิต เพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพ ที่จะบริโภคในลักษณะ ของขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ มีการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม และรักษาคุณภาพของสินค้า รวมทั้งยังมีการเพิ่มประเภทของผักผลไม้อบแห้ง สตรอว์เบอรี่ พีช องุ่น แอปเปิ้ล ซึ่งเป็นการเพิ่ม ความหลากหลายของสินค้า เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ทำให้ขนาดตลาดมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากผลการวิจัยทางการตลาดพบว่าคนไทยนิยมบริโภคผลไม้ต่างประเทศ