ช่องทางการตลาดผักผลไม้ในยุโรป

การทำให้ผักผลไม้ปลอดจากปัญหาสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การทำความสะอาดพืชเพื่อบรรจุใส่หีบห่อ และการตรวจสอบ ความสะอาด (ปลอดสารเคมี เชื้อจุลินทรีย์ และแมลงศัตรูพืช) เพื่อเตรียมส่งออกต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักและมีค่าใช้จ่ายที่สูงเช่นกัน แต่หากส่งออกได้ ก็จะได้ราคาดีมาก เนื่องจากราคาผักผลไม้ไทยในต่างประเทศทุกประเภทล้วนอยู่ในหมวดสินค้าราคาแพง

จุดเด่นของผักไทย โดยเฉพาะกะเพราและโหระพา มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้ในปัจจุบัน มีความพยายามที่จะซื้อเมล็ดพันธุ์พืชของไทยเพื่อไปเพาะในเรือนกระจกภายใน EU เช่น ในเนเธอร์แลนด์เริ่มมีการผลิตและจำหน่ายโหระพาและสะระแหน่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เหมือนกันเสียทีเดียวก็คงเป็นเรื่องกลิ่นนี่เอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะนิ่งนอนใจ เพราะวิทยาการสมัยนี้สามารถใช้พัฒนาในเรื่องต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเรื่องการเพาะปลูกพืชด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ก็อาจมีประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียหรือแอฟริกาเหนือพยายามผลิตผักผลไม้ประเภทเดียวกับไทยเพื่อส่งออกไป EU เป็นคู่แข่งของไทยด้วย ซึ่งต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

มี 2 ช่องทางหลักๆ ช่องทางแรก คือ การจำหน่ายในร้านชำซึ่งจำหน่ายผักผลไม้ให้ร้านอาหารไทย รวมทั้งผู้บริโภคโดยทั่วไป และช่องทางที่สอง คือ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่หรือซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งมีสาขากระจายหลายแห่ง การส่งออกพืชผักไปร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ประเภทนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่ร้านค้าปลีกเหล่านี้กำหนดเพิ่มเติมจากหลักการ GAP ซึ่งเพิ่มต้นทุนการผลิต แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีช่องทางการจำหน่ายที่กว้างขึ้นและจำหน่ายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น

ข้อเสียเปรียบที่สำคัญของผักผลไม้ไทยในตลาดยุโรป คือ ต้นทุนในการขนส่ง เนื่องจากผักผลไม้เป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย จึงทำให้การขนส่งทางอากาศเป็นวิธีการขนส่งที่ดีที่สุด แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ราคาผักผลไม้ที่จำหน่ายในต่างประเทศแพงตามไปด้วย ซึ่งบางครั้งมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคเมื่อเปรียบเทียบกับผักผลไม้เมืองร้อนที่มาจากประเทศที่ใกล้ยุโรปมากกว่า อาทิ จากประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน

This entry was posted in สินค้าและบริการ and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.